องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ

Sisaket Provincial Administrative Organization

ข้อมูล

ปฏิทินกิจกรรม

ผู้ดูแลระบบ

นโยบาย

 

                  

คำแถลงนโยบาย

นายวิชิต  ไตรสรณกุล  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ

ต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ

วันอังคารที่  16  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ

-------------------------------------------------

 

                   ตามที่ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่าผมได้รับความไว้วางใจจาก พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดศรีสะเกษเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษและคณะกรรมการเลือกตั้งได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564 แล้วนั้น

                   เพื่อให้การบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผมดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับกำหนดไว้ และก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดศรีสะเกษ ผมจึงได้จัดทำนโยบายการบริหารราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ โดยได้นำปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดทำ และมุ่งมั่นที่จะบริหารราชการให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ดังนั้น เพื่อให้การเข้ารับหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษของผมในครั้งนี้เป็นไปตามความใน  มาตรา 35/4 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2562 ผมจึงขอโอกาสนี้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนี้

 

  1. ด้านเศรษฐกิจ

                    จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของโลก ประเทศไทย และท้องถิ่น ให้ตกอยู่ในภาวะที่ถดถอย ส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับความเดือดร้อนจากภาวการณ์ว่างงาน และการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดแนวทางในการสร้างงาน สร้างอาชีพ ดังนี้

 

          1.1 ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาสินค้าการเกษตร ปศุสัตว์ สินค้าชุมชน และการบริการ

                   โดยสนับสนุนการสร้างอาชีพแก่เกษตรกรและกลุ่มอาชีพอื่นๆ ให้มีอาชีพและรายได้มั่นคง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปัจจัยการผลิต เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ทาง  การเกษตร รวมถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เข้าถึง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร อาทิ การส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพ การทำปศุสัตว์ การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนามาตรฐานการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

1.2 พัฒนาจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว

                  โดยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี อารยธรรมขอมโบราณ วิถีเกษตร การกีฬา ของจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาและประเทศในอาเซียน เป็นประตูสู่กัมพูชาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในจังหวัด สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับให้จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ  เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

          1.3  เชิญชวนนักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มาลงทุนในจังหวัด

                   ในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าชายแดน เพื่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำ เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้าสาธารณะ เป็นต้น ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชน สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแรงจูงใจให้กับนักลงทุน

 

          2. ด้านสังคม

                    การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม เขมร ลาว ส่วย เยอ สอดคล้องกับที่การกีฬาแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นเมืองกีฬา และการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงได้วางแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

 

2.1 ส่งเสริมการศึกษาให้มีคุณภาพ

                   การพัฒนาประชากรทุกช่วงวัย ให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ในทุกมิติ ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ให้เป็นคนดี มีวินัย ใฝ่ใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัด รับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ อาทิ ส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น ให้ประชากรวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เป็นต้น เน้นการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์นวัตกรรม และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ผ่านการลงมือทำเพื่อเกิดทักษะจากประสบการณ์จริง ภายใต้บริบทการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดสำนึกรักและหวงแหนท้องถิ่น รวมถึงการเสริมสร้าง ให้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด

 

          2.2 ส่งเสริมสุขภาวะประชากรทุกช่วงวัย

                   ภายใต้แนวคิด “สร้าง นำ ซ่อม” โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์แข็งแรง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ มีภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม รู้จักการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม  ส่งเสริมระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้เป็นศูนย์กลางในการดูแลสุขภาวะของชุมชน อาทิ การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และโรคระบาดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัด การรับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข เป็นต้น                

          2.3 การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม

                   ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ เขมร ลาว ส่วย เยอ ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์เฉพาะตน จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมเหล่านั้น ทุกกลุ่มชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ต่างเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นเสน่ห์อันงดงาม ทรงคุณค่า สะท้อนผ่านความเชื่อ ประเพณี วิถีชีวิต ภาษาและการแต่งกาย ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้คงอยู่สืบต่อไปอย่างยั่งยืน จึงได้วางแนวทางในการดำเนินการ อาทิ ส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมการแต่งกายที่สะท้อนอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ของกลุ่มชาติพันธุ์ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น

      

          2.4 พัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้ความสำคัญกับ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส  

                   โดยการส่งเสริมและสนับสนุนสวัสดิการสังคม การสงเคราะห์แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้การดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง จัดสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่างๆ สำหรับรองรับผู้สูงอายุและคนพิการ เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้นำในท้องถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาเด็ก เยาวชน ประชาชน ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง เกิดการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคมควบคู่กับการเรียนรู้จากกิจกรรม รวมถึงส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ เพื่อสร้างความฉลาดทางปัญญาและฉลาดทางอารมณ์ ตลอดจนการเล่นกีฬาและนันทนาการ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งต่อปัญหายาเสพติด

 

          2.5 ส่งเสริมและพัฒนาการกีฬา

                   โดยการส่งเสริมให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นเมืองกีฬาระดับโลก เป็นศูนย์กลางการกีฬาอาชีพ-สมัครเล่น ส่งเสริมการศึกษาวิจัย เวชศาสตร์-การแพทย์ด้านกีฬา และวิทยาศาสตร์สุขภาพ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว บริการ และสันทนาการเชิงกีฬา เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมและพัฒนาเด็ก เยาวชน สู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ พัฒนานักกีฬา และบุคลากรกีฬาไปสู่ความเป็นเลิศ จัดการแข่งขันที่หลากหลาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬาในจังหวัดแบบครบวงจร ส่งเสริม พัฒนา และจัดการแข่งขันกีฬา  e-sports ของจังหวัดศรีสะเกษ

 

          3. ด้านสิ่งแวดล้อม

                   ปัจจุบันปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศกำลังเสื่อมโทรมดังจะเห็นได้จาก  ปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การเผาพื้นที่ทางการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัญหาการทำลายป่าที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ปัญหาน้ำเสียที่เกิดจากน้ำทิ้ง และสิ่งปฏิกูล จากแหล่งชุมชน หรือพื้นที่ทำการเกษตร ปัญหาขยะมูลฝอย ที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่มีการแยกขยะจากต้นทาง รวมถึงการจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐาน ก่อให้เกิดมลพิษ  ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเพิ่มความเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนี้

                     ลดการสร้างขยะด้วยแนวคิด 3R เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง ด้วยการใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce  Reuse  and  Recycle) โดยรณรงค์และสร้างความตระหนักให้เกิดการใช้ที่น้อยลง ลดการใช้วัสดุ ผลิตภัณฑ์ ที่ก่อให้เกิดขยะ เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น การนำวัสดุ ผลิตภัณฑ์ที่ยังสามารถใช้งานได้ กลับมาใช้ซ้ำ และการนำวัสดุ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแล้วมาแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่  ลดการเผาในพื้นที่การเกษตรและการเผาป่า เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองโดยปลูกต้นไม้  ในสถานที่ราชการ ศาสนสถาน  โรงเรียน ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ ในเขตชนบท โดยการปลูกต้นไม้ ปลูกป่าในพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่เสื่อมโทรม จัดทำโครงการ อบจ.สีเขียว ส่งเสริมและสนับสนุนการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม รวบรวมและกำจัดขยะอันตราย ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น เพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในระดับจังหวัดและอำเภอ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย กำจัดของเสียและขยะมูลฝอยอย่าง ถูกสุขลักษณะ พัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากร และพลังงานอย่างประหยัด ลดมลพิษ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

  1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

               โครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด โดยที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจในการดูแล บำรุงรักษาทางบก การจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนสถานีขนส่งทางบก ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาเส้นทางคมนาคม การจัดหาน้ำ การดูแลสถานีขนส่ง ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ สามารถรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

          4.1 เส้นทางคมนาคม

                    ส่งเสริมและพัฒนาถนนในความรับผิดชอบให้สามารถสัญจรไป-มา ได้อย่างปลอดภัย เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ในการเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว การขนส่งพืชผลทาง การเกษตร นำผลผลิตออกสู่ตลาดการค้า เชื่อมโยงเส้นทางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ พร้อมทั้งติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่าง และสัญญาณจราจรในเขตชุมชนโดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยง เพื่อลดปริมาณการเกิดอุบัติเหตุในเส้นทางคมนาคมที่ใช้สัญจรเป็นประจำ ให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

          4.2 แหล่งน้ำ

                   พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร อย่างพอเพียงและทั่วถึง ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดหาแหล่งน้ำใต้ดินในรูปแบบการเจาะบ่อบาดาล พัฒนาระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง ส่งเสริมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยการสนับสนุนให้มีมาตรการป้องกัน และให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ แก่ประชาชนในท้องถิ่น ที่ประสบความเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และอื่นๆ โดยเท่าทันสถานการณ์ สนับสนุนด้านเทคนิค วิชาการ เครื่องมือ เครื่องจักร และบุคลากร ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ

 

          4.3 สถานีขนส่ง

                   พัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารในความรับผิดชอบ ให้สามารถรองรับปริมาณรถโดยสารและประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างเพียงพอ ทันสมัย เป็นที่ประทับใจแก่ผู้รับบริการทุกฝ่าย มีส่วนสนับสนุนการเดินทางระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและสะดวกปลอดภัย อาทิ ปรับปรุงลานจอดรถ จุดให้บริการผู้โดยสารและประชาชน เป็นต้น

                   ผมขอขอบคุณท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้กรุณาเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษในวันนี้ เพื่อให้ผมได้มีโอกาสแถลงนโยบายก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งนโยบายที่ได้แถลงต่อสภาแห่งนี้ไปแล้วนั้น จะไม่สามารถบังเกิดผลในทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และความต้องการของพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดศรีสะเกษได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนและให้ความร่วมมือจากท่านสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษทุกท่าน ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่าน มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษในตลอดระยะเวลา 4 ปี  ของการดำรงตำแหน่งในครั้งนี้

 

 

                                                                ขอบพระคุณครับ

                                                              นายวิชิต  ไตรสรณกุล

                                                    นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ

                                                                          

            

เอกสารที่เกี่ยวข้อง 1 : ดาวน์โหลด เอกสารที่เกี่ยวข้อง 2 : ดาวน์โหลด

ตราสัญลักษณ์

ITA การวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ของราชการ อบจ.ศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

รวมลิงค์

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์

วันนี้ :
196
สัปดาห์นี้ :
2,714
เดือนนี้ :
22,425
ทั้งหมด :
350,364

การสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการ

องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
Sisaket Provincial Administrative Orgnization
350 หมู่ 3 ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ 33000
โทรศัพท์ : 045-814676 โทรสาร : 045-814677 ต่อ 0 Email : [email protected]